ReadyPlanet.com
ยังไม่มีสมาชิกที่ล็อกอินในขณะนี้
bulletบุคคลทั่วไป 13 คน
dot
dot
ชื่อผู้ใช้ :
รหัสผ่าน :
bullet ลืมรหัสผ่าน
bullet สมัครสมาชิก
dot
dot
dot
จำนวน : 0 ชิ้น
ราคา : 0.00บาท
bullet ดูสินค้า
bullet ชำระเงิน
dot

ราคาสินค้า
หมวดสินค้า
ยี่ห้อสินค้า

  [Help]
dot
สินค้าทั้งหมด
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
 ยาอม/ยาดม/ยาหม่อง
ควบคุมน้ำหนัก ลดน้ำหนัก
ว่านหางจระเข้ Aloe Vera เจลว่านหางจระเข้ ว่านหางจระเข้รักษาสิว ครีมว่านหางจระเข้ ว่านหางจระเข้ทาหน้า สรรพคุณว่านหางจระเข้ ว่านหางจระเข้พอกหน้า
ผลิตภัณฑ์สำหรับแม่และเด็ก
ให้เช่าพื้นที่โฆษณาโดยร้านขายยาคลีนิกยาเว็ปไซต์อันดับหนึ่งจัดอันดับโดย google.co.th


ยาหลอก (Placebo Effect)

 

ยาหลอก placebo effect

ผลลัพธ์ของ ยาหลอก

 

 

Placebo หรือภาษาไทยใช้คำว่า “ยาหลอก” คือ แป้ง น้ำตาล หรือสารอะไรก็ได้ ที่โดยตัวมันเอง แล้วไม่ใช่ยา และไม่ได้มีผลทางการรักษาใดๆ แต่นำมาทำให้ดูเหมือนเป็นยา (และคนที่ใช้ก็เข้าใจว่าเป็นยาจริงๆ) ส่วนผลของยาหลอก (placebo effect) คือ การที่ผู้ป่วยสามารถถูกกระตุ้นให้หายหรืออาการดีขึ้นได้ จากการเชื่อว่าพวกเขากำลังได้รับการรักษาจริงๆ

 

 

หากถามว่า

 

“คุณคิดว่ายาแก้ปวดตัวไหนดีกว่ากันระหว่าง

 

ยาแก้ปวด ก. ราคาเม็ดละ 3 บาท พบว่า 61% ของคนที่กินเข้าไปแล้วบอกว่าอาการปวดลดลง -> หลายคนคงบอกว่า อืมก็ “พอใช้ได้” นะ คนตั้งครึ่งกว่าน่ะที่กินแล้วปวดน้อยลง

 

VS

 

ยาแก้ปวด ข. ราคาเม็ดละ 75 บาท พบว่า 85% ของคนที่กินเข้าไปแล้วบอกว่าอาการปวดลดลง -> ฟังดูแล้วหลายคนคงบอกว่า “โอ้ว... ยานี้น่าจะดีกว่านะ สมกับราคาที่แสนแพง”

 

 

แต่จะแปลกใจไหม หากผมบอกว่า ยาที่บอกว่าเป็นยาแก้ปวดทั้งสองตัวนี้จริงๆ แล้วเป็นแค่แป้งอัดเม็ดทั้งคู่ ไม่ได้มีตัวยาแต่อย่างใด!!! และนี่เป็นผลการทดลองทางการแพทย์ที่ตีพิมพ์ลงใน JAMA วารสารการแพทย์ชื่อดังในปี 2008

 

(งานวิจัยของ Waber RL. Shiv B, Carmon Z, Ariely D. เรื่อง Commercial features of placebo and therapeutic efficacy. ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA. 2008 Mar 5:299(9):1016-7.)

 

 

ที่มาของยาหลอก

 

จุดเริ่มต้นของยาหลอกเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 70 ปีก่อน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนั้นเกิดการสู้รบอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทำให้มีทหารบาดเจ็บจำนวนมาก จนในที่สุดก็เกิดการขาดแคลนยาแก้ปวดมอร์ฟีนอย่างหนัก จนไม่มีให้ใช้ คราวนี้เอาล่ะสิ คนไข้มี แต่ยาดันไม่มี พยาบาล ซึ่งเป็นผู้ช่วยของนายแพทย์ Beecher ไม่รู้จะทำยังไง จึงบอกกลุ่มทหารที่บาดเจ็บไปว่า เดี๋ยวจะฉีดยาแก้ปวดอย่างแรงให้นะ แต่ในความเป็นจริงยาไม่มี เป็นแค่น้ำเกลือเปล่าๆ แต่เมื่อฉีดไปแล้วผลที่ได้กลับน่าอัศจรรย์ใจที่ทหารกลุ่มนั้นบอกว่ารู้สึกปวดน้อยลง

 

 

หลังสงครามจบ นายแพทย์ Beecher ยังคงคาใจอยู่ จึงได้กลับมาทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น และได้ตีพิมพ์บทความชื่อดังอันหนึ่งในวงการแพทย์ในปี ค.ศ.1955 นั่นคือ “The Powerful Placebo” โดยผลการศึกษาได้สรุปว่าเฉลี่ยแล้วคนกว่า 1 ใน 3 (32.5%) จะดีขึ้นจากการได้ยาหลอก ซึ่งต่อมาก็มีการศึกษาลักษณะนี้ออกมาเป็นจำนวนมาก และพบว่าคนทั่วไปประมาณ 30-50% จะตอบสนองต่อการได้ยาหลอก

 

 

การศึกษาของนายแพทย์ Beecher ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงกระบวนการทำวิจัยทางการแพทย์ใหม่ โดยจากเดิมการทดลองว่ายาตัวใหม่ใช้ได้ผลหรือไม่ ทำเพียงแค่ให้ยาตัวใหม่นั้นกับคนไข้ แล้ววัดดูว่าอาการดีขึ้นหรือเปล่า ซึ่งจากการพบพลังของยาหลอก ทำให้การศึกษาที่ทำเพียงเท่านี้ ไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะคนทั่วไปเกือบครึ่งกินแป้งอัดเม็ด แต่หากเข้าใจว่าเป็นยา ก็อาจดีขึ้นได้ ทำให้หลังจากนั้นการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการรักษา จะต้องทำเปรียบเทียบกับยาหลอกเสมอ

 

 

ยาหลอกได้ผลในภาวะอะไรบ้าง

 

ผลของยาหลอกพบว่าได้ผลในเกือบทุกภาวะทางการแพทย์ เรียกว่าได้ผลตั้งแต่เรื่องปวด โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคผิวหนัง โรคหืดหอบ โรคพาร์กินสัน จนถึงโรคมะเร็ง และคำว่ายาหลอกนั้นไม่ได้หมายความตรงตัว แค่ “ยากิน” เท่านั้น แต่กินความจนถึงการรักษาทางการแพทย์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด การฉีดยา และอื่นๆ ดังที่เคยมีการศึกษาขนาดที่เอาผู้ป่วยปวดเข่าจากภาวะเข่าอักเสบ 10 คน โดยบอกว่าจะทำการผ่าตัดส่องกล้องเพื่อลดอาการปวด แต่ความจริงมีเพียง 5 คนเท่านั้นที่ได้รับการผ่าตัดจริงๆ ในขณะที่อีก 5 คน หลังจากวางยาสลบแล้ว แพทย์ทำเพียงกรีดรอยเล็กๆ ที่ผิวหนังให้เหมือนว่าได้ทำการผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง เสร็จแล้วก็ปิดแผล เมื่อฟื้นแล้วก็ให้กลับบ้านได้ แต่ผลกลับพบว่า 6 เดือนหลังผ่าตัด ผู้ป่วยทุกคนบอกว่าอาการปวดน้อยลง (ทั้งที่มีคนได้ผ่าตัดจริงแค่ครึ่งเดียว)

 

 

ยาหลอกในปัจจุบันใช้ทำอะไร

 

หลักๆ คงมีแค่ 2 ข้อ ได้แก่

 

 ใช้ในการศึกษาวิจัย ในทางการแพทย์ปัจจุบันการศึกษาว่ายาตัวใดตัวหนึ่ง (หรือการรักษาใด) ใช้ได้ผลหรือไม่ ไม่ใช่เพียงแค่เอายานั้นให้คนไข้กินแล้ววัดว่าขึ้นหรือเปล่า เพราะจากที่เล่ามาจะเห็นว่าอย่างน้อย 1 ใน 3 ของคนทั่วไปก็ดีขึ้นหลังได้แค่ยาหลอก ดังนั้น การศึกษาจำเป็นต้องศึกษา 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งใช้ยาจริง ที่ต้องการศึกษาเปรียบเทียบ กับอีกกลุ่มที่ได้ยาหลอก แล้วจึงวัดว่ายานั้นได้ผลดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ซึ่งหากได้ผลแย่กว่าหรือแค่พอๆ กับยาหลอก ก็ถือว่ายาใหม่ตัวนั้นใช้ไม่ได้ผล (คือกินแป้งอัดเม็ดก็ดีขึ้นเท่ากัน)

 

 

 ใช้เพื่อการรักษา กรณีนี้คือการที่แพทย์ตั้งใจให้ยาหลอก (คือแพทย์เองรู้ว่าจริงๆ ยาที่ให้ไม่มีผลอะไรต่อโรคนั้นโดยตรง) เพื่อให้คนไข้ดีขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า เหมาะสมและถูกจริยธรรมทางการแพทย์แค่ไหน โดยฝ่ายสนับสนุนให้เหตุผลว่าอย่างน้อยมันก็ช่วยให้คนไข้ดีขึ้นได้ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ฝ่ายที่คัดค้านรู้สึกว่าเป็นการหลอกคนไข้และปกปิดความจริง ซึ่งในเกือบทุกประเทศประเด็นนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนออกมา แต่ที่แน่ๆ การให้ยาหลอกในความเป็นจริง มีการใช้กันเยอะพอสมควร จากการศึกษาในประเทศอเมริกาในแพทย์จำนวน 679 คน พบว่ากว่าครึ่ง (57%) เคยให้ยาหลอกกับคนไข้ และในขณะเดียวกัน 62% บอกว่าไม่คิดว่าเป็นการผิดจริยธรรมที่ทำแบบนั้น

 

 

ในประเทศไทยเองยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาหลอกของแพทย์มาก่อนเลยไม่มีข้อมูลมาเล่าให้ฟังครับ แต่จากประสบการณ์แล้วคิดว่าคงไม่ได้ต่างกันมากนักกับต่างประเทศ ตรงกันข้ามเผลอๆ อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะในไทยผู้ป่วยจำนวนหนึ่งมักมีค่านิยมว่าไปพบแพทย์แล้วต้องได้ยา ซึ่งหากไม่ได้มักรู้สึกไม่ค่อยพอใจ และไม่กลับไปตรวจอีก ทำให้แพทย์บางคนใช้วิธีให้ยาประเภทวิตามินรวม หรือยาแก้ปวดอ่อนๆ ไปแทน ทั้งที่ในความเป็นจริงตามหลักวิชาแล้วยาพวกนี้แทบจะไม่มีผลอะไรเลยก็ตาม

 

 

ทำไมยาหลอกถึงได้ผล

 

ในแง่จิตวิทยา เชื่อว่ามีกลไกที่ทำให้ยาหลอกได้ผล ดังนี้

 

 เกิดจากความคาดหวัง ทฤษฎีนี้อธิบายได้ง่ายๆ ว่า “เราคาดหวังอะไร มันก็มีแนวโน้มเป็นอย่างนั้น” คาดหวังว่ายามันดี มันก็จะดี ลองคิดว่าเรามีแนวโน้มจะบอกว่าอาหารร้านไหนอร่อยกว่ากัน ระหว่างร้านที่เพื่อนแนะนำว่าไปกินสิ อร่อยสุดๆ ถามเพื่อนสิบคนทุกคนก็บอกอร่อย กับอีกร้านที่สิบคนบอกห่วยมาก สุนัขไม่รับประทานแน่นอนว่าเราก็มีแนวโน้มที่จะรู้สึกว่าร้านแรกมันอร่อยกว่า ถึงแม้ว่าความจริงแล้วคุณภาพอาจพอๆ กัน

 

 

ดังเช่น การศึกษา ก. และยา ข. ที่ผมยกมาถามในตอนต้นเอง ก็จะเห็นว่าคนตอบสนองต่อยาหลอกที่แพงกว่ามากกว่ายาหลอกที่ถูกกว่า ด้วยแนวคิดแบบธรรมดาทั่วไปคือ ยาแพงน่าจะเป็นยาที่ดีกว่า ส่วนยาถูกๆ น่าจะไม่ดีเท่าไหร่เลย ทำให้ผลการรักษายา (หลอก) แพงออกมาดีกว่าทั้งๆ ที่ก็เป็นแป้งทั้งคู่

 

 

 เกิดจากทฤษฎีการวางเงื่อนไข ซึ่งคิดค้นโดยนักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลชาวรัสเซีย อิวาน พาสลอฟ ในเรื่องผลของยาหลอก หากอธิบายตามทฤษฎีนี้ก็คือในชีวิตคนเรา เอเจ็บป่วยไม่สบายก็จะกินยา และเมื่อกินยาก็จะดีขึ้น ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ก็จะเกิดซ้ำๆ หลายสิบครั้งในชีวิตที่ผ่านมา ทำให้เกิดเงื่อนไขขึ้นมาอันหนึ่งนั้น คือ ถ้าป่วยกินยาแล้วจะดีขึ้นแม้จะเป็นยาหลอกก็ตาม

 

 

 เกิดจากการหันเหความสนใจ การหันเหความสนใจนี้อธิบายได้ดีในเรื่องของอาการปวด พูดง่ายๆ คือยิ่งเราไปเพ่งความสนใจอยู่ที่อาการปวดมันก็จะรู้สึกปวดมากขึ้น แต่ถ้าไม่สนใจก็จะปวดน้อยลง ยกตัวอย่างผมเคยมีเพื่อนปวดท้องโรคกระเพาะ ตอนแรกบอกปวดมาก เอามือกุมท้องตลอด ปวดไปพักหนึ่งจนละครหลังข่าวที่เจ้าตัวติดมากเริ่มฉาย ก็ลุกไปดูทีวี ดูไปดูมาอินจัด ลุ้นนางเอกตบกับตัวอิจฉาอย่างเมามัน ดูไปตลอดชั่วโมงไม่บ่นปวดซักคำ แต่พอละครจบเท่านั้นแลหะเริ่มบ่นปวดต่อเลย การได้ยาหลอกในบางครั้งก็เป็นการหันเหความสนใจอย่างหนึ่ง คือ ก่อนได้ยา เวลาคนเราปวดก็มักจะสนใจแต่เรื่องอาการปวด คอยเพ่งอยู่แต่ตรงนั้น นึกภาพดูว่า เช่น บางคนเวลาเจ็บเข่าก็อาจนั่งเฉยๆ ไม่ทำอะไร เอามือจับๆ ลูบๆ ดูทั้งวัน ขยับทีก็ค่อยสังเกตทีว่าจะปวดหรือเปล่า แต่พอกินยาไปก็สบายใจ ไม่กังวลเพราะคิดว่าเดี๋ยวก็ดีขึ้น ก็เลิกสนใจ ไม่ไปเพ่งกับตรงที่ปวดอีก เลยรู้สึกปวดน้อยลง

 

 

เดิมทีผลของยาหลอกเชื่อกันว่าเกิดจากด้านจิตใจเพียงอย่างเดียว แต่ต่อมาเมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามากขึ้น มีการศึกษามากมายที่พยายามอธิบายผลของยาหลอก ในเชิงของสารเคมีและปฏิกิริยาในสมอง ยกตัวอย่างเช่น ในแง่อาการปวดพบว่าการให้ยาหลอกจะมีผลทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนที่เรียกว่าเอ็นดอร์ฟิน เป็นฮอร์โมนฝิ่นที่ผลิตได้เองในร่างกายมนุษย์ ซึ่งมีผลลดการปวดได้จริงๆ แต่คำอธิบายนี้ก็สามารถอธิบายได้เฉพาะในเรื่องอาการปวดเท่านั้น แต่อธิบายการดีขึ้นจากยาหลอกในภาวะอื่นๆ เช่น อาการหอบหืดหรืออาการสั่นจากพาร์กินสันไม่ได้ และยังพบว่ายาหลอกยังสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มการหลั่งสารสื่อประสาทประเภทโดปามีนในสมอง และรวมถึงทำให้การทำงานของสมองส่วนหน้าเกิดการเปลี่ยนแปลงได้

 

 

แต่ก็อย่างที่บอกไปว่าในปัจจุบันนี้ยาหลอกยังคงเป็นเรื่องลึกลับทางการแพทย์ และยังคงไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนได้ ว่าเกิดจากอะไรกันแน่ การศึกษาเหล่านี้เป็นเพียงแนวทางพอจะอธิบายได้เพียงบางแง่มุมเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถอธิบายได้ในทั้งหมด และทุกวันนี้ก็ยังมีการศึกษาใหม่ๆ เกี่ยวกับยาหลอกออกมาเรื่อยๆ ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปนะครับ

 

 

คำถามที่พบบ่อย

 

Q : การที่ผู้ป่วยได้ยาหลอกแล้วดีขึ้น แปลว่าป่วยไม่จริง หรือคิดไปเองหรือเปล่า?

 

A : ประเด็นนี้ยังเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์เองส่วนหนึ่งยังมีความเข้าใจผิดๆ ว่า การที่คนไข้ได้ยาหลอกแล้วดีขึ้นแปลว่าไม่ได้ป่วยจริง จนบางครั้งกลายเป็นผลเสีย เพราะมีการสอนแบบปากต่อปาก (คือ บอกต่อๆ กันเอง ไม่ได้มาจากตำรา) ว่าการทดสอบว่าผู้ป่วยแกล้งปวดหรือไม่ ให้ลองฉีดน้ำเกลือ (ยาหลอก) แล้วบอกว่าเป็นยาแก้ปวด ถ้าหายปวดหรือปวดดีขึ้นแปลว่าแกล้งปวดหรือคิดไปเอง ซึ่งไม่จริง เพราะจากที่เล่าไปจะเห็นว่าผลของยาหลอก เกิดขึ้นได้เกือบครึ่งของคนทั่วไป ดังนั้น จึงไม่ใช่สิ่งที่จะใช้พิสูจน์ว่าคนๆ หนึ่งป่วยจริงหรือแกล้งป่วย

 

 

Q : ผลของยาหลอกมีอันตรายหรือไม่?

 

A : ผลของยาหลอกทำให้น้ำหมัก น้ำเอนไซม์ ยาวิเศษ หินมหัศจรรย์แก้ปวด และอีกสารพัดยาผีบอกทั้งหลาย ยังสามารถหลอกเอาเงินผู้คนได้ ขอเพียงสามารถทำให้คนที่ใช้เชื่อว่าเป็นยาดีเป็นยาวิเศษ ก็อาจทำให้อาการดีขึ้นได้ (แต่เป็นผลของยาหลอกล้วนๆ) ซึ่งของเหล่านี้นอกจากจะเสียเงินฟรีแล้ว หากเป็นโรคที่รุนแรง ยังเป็นการเสียโอกาสในการรักษาอีกด้วย ผมเองเห็นคนไข้หลายคนแล้วที่เป็นมะเร็ง ตอนที่ตรวจเจอยังเป็นแค่ขั้นต้นพอรักษาได้ แต่คนไข้ไม่มารักษา หนีไปกินน้ำหมักอยู่หลายเดือนก็ไม่หาย ซ้ำร้าย จนกลับมาพบแพทย์ใหม่ โรคก็ลุกลามไปมากจนไม่สามารถรักษาให้หายได้ ทั้งๆ ที่หากรักษาแต่แรกยังมีโอกาสที่จะหายขาดได้

 

 

ที่มาจาก นพ.ธรรมนาถ เจริญบุญ

                         จิตแพทย์




รอบรู้เรื่องยากับคลีนิกยา

เหตุผลที่ควรนำยาเก่าไป รพ. ด้วยเสมอ
ยาปฏิชีวนะ ไม่ใช่ ยาแก้อักเสบ!!
ยาฉีดคุมกำเนิด (Injectable contraceptive)
แอลคาร์นิทีน (L-carnitine) จำเป็นไหมกับการลดความอ้วน
ชะเอม กับการรักษาและป้องกันโรค
กลุ่มยาแก้ปวดและยาพาราเซตามอล (Analgesics and Paracetamol)
Drug Identification พิสูจน์เอกลักษณ์เม็ดยา
ยายับยั้งการหลั่งน้ำย่อยประเภท H2 blocker รุ่นใหม่
การใช้ยาเลื่อนประจำเดือน