เจลสูดดม 'เดอะกอริลล่า' บรรจุ 6 กรัม
ความจัดจ้านเผ็ดร้อนของพริกใช่ว่าจะเหมาะกับการนำไปใช้ปรุงอาหารเพิ่มรสเผ็ดเพียงอย่างเดียว แต่สรรพคุณที่ซ่อนไว้ภายในมีคุณค่ามากมายมหาศาลที่สามารถนำไปต่อยอดสร้างโอกาสทางธุรกิจที่คุณอาจคาดไม่ถึง หนึ่งในนั้นคือ เจลสูดดม เดอะกอริลล่า (The Gorilla Gel) ของ น็อต วรฤทธิ์ นักแสดงมืออาชีพที่นำ “นวัตกรรม” จากงานวิจัยมาสร้างเอกลักษณ์ทางธุรกิจ
จุดเริ่มต้นของเจลสูดดม
หลังจากมีโอกาสร่วมทำรายการที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ น็อต วรฤทธิ์ สัมผัสกับงานวิจัยมากมายจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) บวกกับความสนใจอาชีพเกษตรกรรม จึงมีแนวคิดนำ “พริกพิโรธ” สายพันธ์จากประเทศอินเดีย พริกที่มีความเผ็ดที่สุดในโลก มาปลูกในโรงเรือนที่ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น การให้น้ำ และปุ๋ย เพื่อทดลองค้นคว้าหาโอกาสในการทำธุรกิจจากสารแคปซิคุมที่สกัดได้จากพริกมาใช้ในอุตสาหกรรม ยาและอาหารสัตว์ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่เนื่องจากต้นทุนในกระบวนการผลิตมีราคาสูงกว่าการนำเข้า จึงไม่สามารถเจาะตลาดในกลุ่มนี้ ทีมงานวิจัยจึงนำไปพัฒนาต่อยอดเป็น “ยาหม่อง” เริ่มต้นด้วยการแจกทดลองใช้สู่การสร้างผลิตภัณฑ์เจลสูดดม ออกวางตลาดภายใต้ชื่อ “เดอะ กอริลล่า”
พริกพิโรธ
พลิกความต่างสร้างตลาดใหม่
แต่ใช่ว่าการกระโดดเข้าไปแย่งชิงตลาดยาดม ยาหม่อง จะง่ายดาย เพราะตลาดในกลุ่มนี้มีแบรนด์ดังครองส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่แล้ว น็อต วรฤทธิ์ จึงวางแผนในการจับกลุ่มเป้าหมายใหม่โดยพุ่งไปที่กลุ่มวัยรุ่น นักศึกษาและวัยทำงาน โดยนำสารสกัดจากพริกมาสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ พร้อมพลิกรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย ใช้งานสะดวก และมีภาพลักษณ์ที่ดูอ่อนวัยกว่าผลิตภัณฑ์แบบเดิมๆที่ขายในท้องตลาด พร้อมนำภาพลิงกอริลล่ามาสร้างสีสันสดใสบนผลิตภัณฑ์ สร้างตลาดใหม่ให้กับยาดม ยาหม่อง พร้อมเรียกผลิตภัณฑ์ตัวเองว่า “เจลสูดดม”
ช่องทางการจำหน่าย
ในช่วงต้น “เดอะ กอริลล่า” วางจำหน่ายตามบูธจัดแสดงสินค้า และขายผ่านสังคมออนไลน์ เช่น Facebook และ Instagram แต่หลังจากที่ผลิตภัณฑ์ได้รับการตอบรับอย่างดี ทีมงานจึงขยายช่องทางการจำหน่ายเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น ปัจจุบัน “เดอะ กอริลล่า” เริ่มขยายตลาดเข้าสู่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านขายยา Pure ทุกสาขาใน Big C และร้าน Health Club by Wuttisak โดยวางเป้าหมายเติบโตไม่น้อยกว่า 10 เท่าจากปีที่ผ่านมา พร้อมวางแผนส่งออกไปในตลาดต่างประเทศที่ใช้ผลิตภัณฑ์ในรูปแบบนี้อยู่แล้ว เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง และประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย
การค้นคว้าวิจัยจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆที่สามารถสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ อีกทั้งยังสามารถสร้างเอกลักษณ์ให้เกิดขึ้นบนตัวผลิตภัณฑ์ สำหรับในเมืองไทยเรามีหน่วยงานค้นคว้าวิจัยมากมาย อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ฯลฯ ที่รอคอยให้ผู้ประกอบการนำองค์ความรู้เหล่านั้นไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดธุรกิจสร้างสรรค์