เมื่อวันที่ 17 ส.ค. บนเครือข่ายสังคมโซเชียลมีเดียยอดฮิตอย่างเฟซบุ๊ก สมาชิกใช้ชื่อว่า “jujoop chatthai” ได้เผยแพร่รูปภาพ
ซึ่งเป็นใบสั่งยาที่เขียนด้วยลายมือแพทย์อย่างสวยงามและตัวบรรจงเป็นระเบียบ ซึ่งทำให้อ่านง่ายมากยิ่งขึ้น ภายหลังชาวเน็ต
จึงเข้าไปชื่นชม โดยส่วนใหญ่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ เข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ว่า นี่เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับแพทย์ ซึ่งน่าเป็น
แบบอย่าง อาจจะเป็นจุดเล็กๆ แต่ก็สามารถช่วยลดความผิดพลาดในการจัดยาให้ผู้ป่วย อาจไม่จำเป็นต้องสวยเท่านี้ แต่ขอให้
อ่านออกบ้าง เพื่อการสื่อสารที่ถูกต้องรวดเร็ว
ขณะที่ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และพล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการ
แพทยสภา ก็ได้ชื่นชมผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วยว่า “เห็นแล้วต้องยอมรับว่าเป็นการเขียนคำสั่งแพทย์ ด้วยความตั้งใจและลายมืองดงาม
ซึ่งจะลดความผิดพลาดในการสื่อสารกับทีมพยาบาลได้อย่างดียิ่ง สมควรชื่นชมครับ ว่างๆมีเวลาแวะมารับรางวัลได้เลย”
ด้านผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า “Pe Mi K” เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า “เวลาไปรักษาต้องใช้ใบรับรองแพทย์เพื่อเบิกเงินกับต้นสังกัด
และความจริงก็คือมีหลายครั้งที่ข้อมูลในใบรับรองแพทย์อ่านไม่ออก ทำให้เบิกไม่ได้”
“แพทย์คนนี้เป็นนิสิตแพทย์ดีเด่นจากแพทยสภา ประจำปี 2557 ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีที่เขียนใบสั่งแพทย์ด้วยลายมือของตนเอง
และยังมีความสวยงาม แม้ว่าจะมีสมาร์ทโฟนเข้ามา แต่ก็ยังเลือกเขียนด้วยลายมือ ซึ่งมีความสำคัญในทางปฎิบัติ เพราะการเขียนคือ
การฝึก จดจำได้อย่างแม่นยำ และยังถือเป็นการอนุรักษ์ภาษาไทยไว้อีกด้วย” รองเลขาธิการแพทยสภา ระบุ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ธีรเวชช์ แพทยานันท์ รพ.นครชัยศรี จ.นครปฐม และเจ้าของลายมือดังกล่าว เปิดเผยกับ “เดลินิวส์ออนไลน์”
ว่า เป็นลายมือของตนจริง ปกติลายมือจะเป็นเช่นนี้ตั้งแต่สมัยเรียนแพทย์ปี 1 โดยจะพยายามเขียนให้ตนเองและผู้อื่นอ่านออกมากที่สุด
แต่ก็ถนัดทั้งการเขียนด้วยลายมือ และพิมพ์ลงบนสมาร์ทโฟน แต่หากโรงพยาบาลไหนต้องการเก็บข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน
อาจจะเลือกใช้การจดด้วยลายมือ ซึ่งอาจจะแตกต่างจากโรงพยาบาลที่ต้องการลดปริมาณการใช้กระดาษ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ
วัฒนธรรมแต่ละองค์กรจะใช้รูปแบบใด“ส่วนตัวคิดว่า ลายมือของหมอแต่ละท่าน ที่เขียนออกมาแบบเร่งรีบ คงเพราะ
ต้องการความรวดเร็ว เนื่องจากคนไข้อาจจะเยอะ
และให้ทันต่อการให้บริการ แต่ก็เห็นด้วยว่า หากเขียนด้วยลายมือ อาจจะไม่ต้องสวยก็ได้ ให้อ่านได้ง่าย ไม่หวัดเกินไป
ก็ช่วยลดความผิดพลาดในการสั่งจ่ายยาได้” นพ.ธีรเวชช์ กล่าว
ขอบคุณรูปภาพจากเฟซบุ๊ก : Theeravet Pattayanant, Panjachat DrPoo Ratanamongkol