2222222222222222222222222222222222222222222222222
ร้องไห้โคลิค เป็นอาการที่คุณแม่โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่หวาดผวา เพราะเมื่อถึงเวลาเจ้าหนูจะร้องไห้งอแง ทำอย่างไรก็ไม่หยุด ต้องรอจนกว่าเจ้าหนูจะเหนื่อยหลับไปเอง อาการเช่นนี้คนแก่จะเรียกว่าเด็กเห็นผีจึงร้องไห้ หรือร้องไห้ร้อยวัน แต่ในทางการแพทย์จะเรียกว่า อาการโคลิค มาทำความรู้จักและเข้าใจอาการโคลิคกัน
โคลิค (Colic) คืออะไร
โคลิค คือ การร้องไห้ที่มีลักษณะรุนแรงเป็นพิเศษ ไม่เหมือนการร้องไห้แบบธรรมดาสามัญ เพราะไม่ว่าจะอุ้ม ปลอบ ร้องเพลงกล่อมก็ไม่หยุด ให้กินนมก็ดูดๆ ผละๆ กํามือจิกเท้างอขา หลับตาแน่นสลับกับเบิกตาโพลง สามารถร้องต่อเนื่องได้นานเป็นชั่วโมงหรือหลายชั่วโมง มักเป็นตรงเวลากันทุกวันอาจมีหยุดบ้างบางวันตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงหลังเที่ยงคืน ส่วนใหญ่เริ่มเป็นเมื่ออายุ 2-3 สัปดาห์ และหายเองเมื่ออายุ 3 เดือน แต่มีบางคนอาจนานถึง 5 เดือน
ลักษณะการร้องโคลิคของทารก
1. ทารกที่ร้องโคลิคจะร้องเป็นเวลาคล้ายนาฬิกาปลุก เช่น บางคนร้องตอน 6 โมงเย็นก็จะร้องเวลานี้ประมาณ 3 เดือน และมักจะพบบ่อยในลูกคนแรก
2. เวลาร้องไห้โคลิคจะสังเกตได้ว่าทารกจะหน้าแดง งอขาทั้งสองข้างขึ้นมาและหดเกร็ง ร้องเสียงแหลม บางคนผายลมออกมาแล้วจะทุเลา
3. บางคนร้องไห้เป็นระยะๆ ร้องนาน 2-3 ชั่วโมง แต่ไม่มีแสดงอาการว่าเจ็บปวดหรือมีลมจุกแน่นในท้อง บางคนร้องแบบโคลิคผสมกับร้องเป็นระยะ ๆ ด้วย
4. แต่บางคนร้องมาก ร้องทุกคืนจนครบ 3 เดือนก็มี แต่จะพบน้อยมาที่ร้องถึง 6 เดือนหรือมากกว่านั้น
5. สภาพร่างกายของลูกน้อยปกติและแข็งแรงดี ไม่ได้ร้องเพราะกำลังหิวหรือไม่สบาย และคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถหาสาเหตุอื่นๆ ในการที่ทำให้ลูกน้อยร้องได้
สาเหตุการร้องโคลิค
1. เป็นการร้องไห้ในรูปแบบต่าง ๆ ของเด็ก ซึ่งกำลังปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่เมื่อต้องออกมาอยู่นอกตัวแม่ เด็กบางคนปรับตัวง่าย บางคนปรับตัวยาก แต่เมื่อปรับตัวได้แล้ว ก็หยุดร้องไปเอง
2. ปัจจัยอื่นเป็นแค่ตัวกระตุ้น หรือทําให้การเลี้ยงดูยากขึ้นเท่านั้น เช่น การปวดท้องจากแก๊สในกระเพาะอาหาร การถูกเร้าจากภาวะแวดล้อม เช่น เสียงดัง แสงจ้า หรือกลิ่นบุหรี่ เป็นต้น ล้วนกระตุ้นให้ลูกร้องโคลิคได้ทั้งสิ้น
5 วิธีปราบโคลิคให้ทารกอย่างได้ผล
วิธีที่ 1 อุ้มเจ้าหนูในท่าคว่ำดีที่สุด
1. อุ้มเด็กให้อยู่ในท่าคว่ำดูเหมือนเด็กที่มีอาการโคลิคจะรู้สึกสบายตัวขึ้นเมื่อได้นอนคว่ำ ถ้าคุณกำลังนั่งเก้าอี้โยก ให้อุ้มเด็กคว่ำไว้บนปลายแขนขวางลำตัว จากนั้นโยกเก้าอี้เบาๆ ใช้มือประคองศีรษะเด็กไว้ด้วย
2. ถ้าต้องการเดินไปมาให้อุ้มเด็กในลักษณะเดียวกันนี้บนปลายแขนคุณแม่หรือคุณพ่อ โดยใช้มือรองรับศีรษะของลูกเอาไว้ แต่อุ้มให้ชิดอกมากขึ้นและใช้มืออีกข้างช่วยประคอง
3. เอาเด็กใส่เป้สะพายแนบอกซึ่งทำให้เด็กได้รับความอบอุ่นจากอ้อมอกและได้ยินเสียงหัวใจคุณแม่เต้นด้วย วิธีนี้คุณแม่อาจพาลูกเดินเล่นไปมาในบ้าน บริเวณบ้าน หรือสามารถพาลูกออกไปเดินเล่นข้างนอกก็ได้
วิธีที่ 2 ห่อหุ้มตัวให้อบอุ่น
การห่อหุ้มตัวเด็กทารกเป็นการเลียนแบบภาวะในครรภ์ แนวคิดหลักคือ ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยมากกว่าจะเป็นการให้ความอบอุ่น การห่อหุ้มตัวนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในเปลของเด็กทารก
วิธีการคือ
– คลี่ผ้าฝ้ายปูนอนออก แล้วพับมุมด้านหนึ่งลงมา
– วางลูกลงนอนหงายบนผ้าโดยให้มุมผ้าที่พับไว้อยู่ใต้คอ ดึงมุมผ้าด้านซ้ายมาปิดแขนและลำตัว แล้วสอดให้กระชับใต้ลำตัวเด็ก
– จากนั้นดึงมุมผ้าด้านล่างขึ้นมาปิดเท้า แล้วดึงมุมขวามาพันทับอีกทีหนึ่ง เพราะอาจทำให้ร้อนเกินไป และอย่าพันผ้าแน่นเกินไปเพราะอาจทำให้เลือดไม่ไหลเวียน
วิธีที่ 3 ตัดอาหารที่มีส่วนผสมของนมออกไป
1. ผู้เชี่ยวชาญบางคนเสนอว่าการร้องไห้นั้นอาจเกิดจากการส่งผ่านนมวัวจากแม่สู่ลูก ถ้าคุณเลี้ยงลูกด้วยนมคุณเองและคุณดื่มนมสดหรือกินอาหารที่ทำจากนม เช่น เนยแข็ง ลองงดกินอาหารเหล่านี้สัก 1 สัปดาห์ ถ้าลองวิธีนี้แล้วไม่ได้ผล ก็สามารถกลับไปกินอาหารอย่างเดิมได้
2. อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มน้ำอัดลม และช็อคโกแลต ก็อาจผ่านน้ำนมของคุณไปสู่ลูกได้ ดังนั้นควรลองงดอาหารเหล่านี้ด้วยสัก 2-3 วัน
3.สังเกตดูอาหารอื่นๆ ที่คุณกินและอาจส่งผ่านทางน้ำนมของคุณไปสู่ลูก โดยทั่วไปมักเป็นอาหารจำพวกพืชตระกูลถั่ว ไข่ หัวหอม กระเทียม องุ่น มะเขือเทศ กล้วยหอม ส้ม สตรอเบอร์รี่ และอาหารรสเผ็ดร้อน ถ้างดอาหารเหล่านี้ 1 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น คุณก็กลับไปกินได้ตามเดิม
วิธีที่ 4 ลดตัวกระตุ้นภายนอก
บางครั้งคุณแม่ยิ่งปลอบลูกกลับยิ่งร้องหนักขึ้นนั่นอาจเป็นเพราะระบบประสาทของเด็กทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่ จึงยังรับมือกับเสียงต่างๆ ไม่ดีนัก แม้แต่การเคลื่อนไหวอย่างอ่อนโยน เช่น การโยกหรือไกว ก็อาจมีผลต่อลูก เสียงร้องเพลงเบา ๆ ของคุณจึงอาจมากเกินกว่าหูเล็ก ๆ นั้นจะทนรับได้ ดังนั้น ลองปล่อยให้ลูกน้อยนอนร้องไป 10-15 นาทีหรืออุ้มไว้เฉย ๆ สักพัก หลีกเลี่ยงการมองตาด้วย เพราะจัดเป็นสิ่งเร้าอย่างหนึ่งเหมือนกัน
วิธีที่ 5 จับให้นั่งและทำให้เรอ
1. อุ้มตัวลูกตั้งขึ้นมาขณะป้อนนม อย่านอนขวางพยายามทำให้เรอบ่อยๆ ให้เรอทุกครั้งที่ป้อนนมจากขวดหมด 1 ออนซ์ และลองเปลี่ยนจุกนมที่แตกต่างกัน จุกนมบางชนิดถูกออกแบบมาให้ลดปริมาณอากาศที่ทารกกลืนเข้าไป
2. อย่าปล่อยให้ทารกดูดขวดนมเปล่าหรือดูดจุกนมที่มีรูใหญ่เกินไป เพราะจะทำให้กลืนอากาศเข้าไปและมีลมในท้อง แม้ลมในท้องจะไม่ใช่สาเหตุของโคลิค แต่บางครั้งก็ทำให้เด็กร้องไห้ได้พอๆ กัน
เมื่อใดควรพบแพทย์
1. ทารกอายุ 1 สัปดาห์ร้องไม่หยุด อาจเป็นโรคร้ายแรงกว่าอาการโคลิค แต่ถ้าคุณหมอสรุปว่าทารกน้อยเป็นโคลิค อย่างน้อยก็อุ่นใจได้ว่าอาการนี้จะหายไปเอง
2. เมื่อเด็กอายุได้ 3-4 เดือน แต่ถ้าเด็กร้องไห้นานเกิน 4 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง ต้องรีบพบคุณหมอทันที รวมทั้งกรณีที่เด็กมีอาการไม่สบายหรือเจ็บปวดก่อนหรือหลังร้องไห้ โดยเฉพาะถ้ามีอาเจียนพุ่งออกมา ท้องผูกหรือท้องเสีย มีไข้ หรือไม่ยอมกินนม
คุณหมอฝากบอก
หากลูกร้องโคลิคเป็นระยะเวลานาน ตัวของคุณพ่อคุณแม่เองมักจะมีความเครียดเกิดขึ้น บางครั้งหากเครียดมาก ๆ และไม่สามารถขจัดความเครียดได้ แนะนำว่าควรไปพบคุณหมอเพื่อขอความช่วยเหลือหากรู้สึกกังวล เป็นทุกข์ หรือกลัวว่าจะทำร้ายลูก
ข้อควรระวัง
ยารักษาโคลิคตามตำรับพื้นบ้านนั้นมีอยู่มากมาย เช่น ใช้น้ำที่คั้นสดๆ จากหัวหอม รวมทั้งยาขนานต่างๆ ที่โฆษณาว่าแก้อาการโคลิคได้ ยาบางสูตรอาจช่วยไล่ลมในท้อง แต่หากลูกมีอาการโคลิค ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ลม ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นวิธีรักษาแบบดั้งเดิมหรือด้วยยาขนานใหม่ก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก
|